เสาเข็มเจาะแบบแห้ง
การทำ เสาเข็มเจาะแบบแห้ง โดยใช้สามขา มีข้อจำกัดคือไม่อาจวางปลายเสาเข็มในชั้นทรายมีน้ำ และเจาะผ่านชั้นทรายมีน้ำที่มีความหนามากกว่า 4 เมตรได้ หรือในชั้นดินเหนียวที่มีทรายหรือตะกอนทรายปนมากกว่า 40% เนื่องจากจะมีแรงดันของน้ำเนื่องจากการแตกต่างของความต่างศักย์ของน้ำ ทำให้น้ำไหลเข้าสู่หลุมเจาะผ่านชั้นดินดังกล่าวตลอดเวลา ทำให้ชั้นดินดังกล่าวเกิดการบวมตัว เป็นสาเหตุให้ชั้นบริเวณปลายเสาเข็มสูญเสียสภาพ ทำให้เสาเข็มสูญเสียความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุก
ปัญหาชั้นดินทรายกับ เสาเข็มเจาะแบบแห้ง
คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเสาเข็มเจาะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแบ่งเป็นสองระบบนั่นคือระบบเปียกและระบบแห้ง ระบบเปียกนั้นมักจะเป็นเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่และความลึกมากๆ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครปลายของเสาเข็มเจาะระบบเปียกจะอยู่ที่ระดับชั้นทรายแน่นความลึกมากกว่า 30 เมตร การทำเสาเข็มต้องขุดเจาะดินลงไปถึงชั้นทราย และเนื่องจากทรายไม่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเม็ดดินจึงเกิดการพังทลายได้ง่าย ดังนั้นเมื่อจะทำการขุดดินผ่านชั้นทรายจึงควรป้องกันการพังทลายของชั้นทรายไว้ก่อน การลงปลอกเหล็กกันดินพัง (Temporary casing) เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ แต่การกดปลอกเหล็กลงไปในชั้นทรายที่ความลึกมากๆและเป็นชั้นทรายแน่นจะกระทำได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำสารละลายชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีความหนาแน่นมากเพียงพอที่จะต้านการพังทลายของดินมาทดแทน เช่น สารละลายเบนโทไนท์ เป็นต้น ภายหลังขุดเจาะดินได้ระดับความลึกตามที่ต้องการแล้วก็จะทำการเทคอนกรีตผ่าน Tremie pipe คอนกรีตจะถูกส่งไปยังก้นหลุมเจาะไล่สารละลายให้ไหลขึ้นมายังปากหลุมเจาะ และเมื่อเทคอนกรีตอย่างต่อเนื่องจนเต็มสารละลายจะถูกดันออกจากหลุมเจาะจนหมด คำว่าเสาเข็มเจาะระบบเปียกก็คงจะมีที่มาจากการใช้สารละลายช่วยในการขุดเจาะดินนั่นเอง ดังนั้นคงไม่ได้หมายความว่าเสาเข็มเจาะระบบเปียกจะต้องทำด้วยเครื่องมือที่มีขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากเสาเข็มเจาะที่ทำด้วยเครื่องมือขนาดเล็กเช่นเสาเข็มเจาะที่ทำด้วยสามขา (Tripod Rig) และต้องใช้สารละลายอย่างใดอย่างหนึ่งช่วยในการขุดเจาะดิน กรรมวิธีในการเทคอนกรีตก็คงต้องเป็นเช่นเดียวกับการทำเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ และก็ควรเรียกว่าเป็นเสาเข็มเจาะระบบเปียกด้วยเช่นกัน