เสาเข็มเจาะ การทรุดตัวของอาคาร
ทุกครั้งที่มีข่าวอาคารทรุด จะได้ยินคำถามอยู่เสมอว่าเกิดจากสาเหตุอะไร บางท่านว่าเกิดจากดินไหล เกิดจากเสาเข็มยาวไม่พอ บางท่านก็ว่าเกิดจากสูบน้ำบาดาลมากไป พูดกันไปต่างๆนานาสุดท้ายไม่ทราบว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ช่วงแรกที่เกิดเหตุก็ตื่นตัวกันมากกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้อีก แต่พอนานวันเข้าข่าวเงียบหายทุกคนก็ลืมเลือน ต้องรอให้เกิดเหตุใหม่จึงจะมาสนใจอีกครั้ง อย่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยเพราะความเสียหายจะเกิดซ้ำๆแบบเดิม ทั้งๆที่น่าจะหาทางตรวจสอบและป้องกันไว้ก่อนได้
จากเหตุการณ์ล่าสุดที่มีทาวน์เฮาส์ 4 ชั้น จำนวน 8 ห้องเกิดการทรุดตัวแบบฉับพลันนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ก.ท.ม. ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการเรื่องแนวทางการสำรวจตรวจสอบและแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก ซึ่งบทสรุปมีว่าจะร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯในการดำเนินงานต่อไป สำหรับในส่วนโครงการที่เกิดเหตุนั้นเจ้าของโครงการได้ให้ความเอาใจใส่โดยให้ทำการสำรวจอาคารทุกหลัง หากมีปัญหาจะได้ดำเนินการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ในเรื่องของการพิจารณาหาสาเหตุการทรุดตัวของอาคารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น มีแนวทางง่ายๆด้วยวิธีการนำสาเหตุการทรุดตัวที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่น เช่น สภาพพื้นที่ตั้งของอาคาร ลักษณะอาคาร การใช้งาน แบบแปลนการก่อสร้าง ลักษณะการทรุดตัวและสภาพแตกร้าว เป็นต้น พิจารณาตัดสาเหตุที่ไม่ถูกต้องออกเป็นข้อๆ ท้ายที่สุดจะได้คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ผลที่ได้จะนำไปกำหนดขั้นตอนการสำรวจตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
ลองมาดูกันว่าอะไรเป็นเหตุให้อาคารทรุดตัวได้บ้าง
1. เสาเข็มเจาะอยู่ในดินอ่อน เสาเข็มเจาะอาจสั้นเกินไปหรือยาวไม่เพียงพอ ปลายเสาเข็มไม่หยั่งลงในชั้นดินเหนียวแข็งหรือทรายแน่น
2. เสาเข็มเจาะบกพร่อง เสาเข็มเจาะแตกหรือหักจากการขนส่งหรือขณะกดลงดิน ถ้าเป็นเสาเข็มเจาะอาจเกิดการคอดหรือขาดขณะทำเสาเข็มเจาะ ระบบแห้ง
3. เสาเข็มเจาะเยื้องศูนย์ ศูนย์กลางเสาเข็มหรือกลุ่มเสาเข็มเยื้องตำแหน่งกับเสาอาคาร น้ำหนักที่กดลงทำให้ครอบหัวเสาเข็มพลิกตัว ลักษณะเช่นนี้มักพบมากกับฐานรากเสาเข็มต้นเดียวที่ตอกผิดตำแหน่งแล้วแก้ไขไม่ถูกวิธี
4. ปลายเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิด การเลือกใช้เสาเข็มยาวเท่ากันไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดปัญหา หากปลายเสาเข็มส่วนหนึ่งอยู่ในดินแข็งหรือทรายแน่น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ในชั้นดินอ่อน เสาเข็มจะทรุดตัวไม่เท่ากัน
5. ดินเคลื่อนไหล อาจเป็นเพราะมีการขุดดินลึกบริเวณข้างเคียงหรือดินริมฝั่งน้ำที่เสียเสถียรภาพ ทำให้ดินใต้อาคารไหลเคลื่อนออกไป หากดินที่ไหลมีปริมาณมากๆจะทำให้ครอบหัวเข็ม(ฐานราก)และเสาเข็มถูกดันเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม และอาจทำให้เสาเข็มหลุดออกจากครอบหัวเข็มได้(ดูรูปในฉบับที่แล้ว)
6. กำลังรับน้ำหนักเสาเข็มไม่เพียงพอ ในบางครั้งพบว่าเสาเข็มมีความยาวหยั่งลงในชั้นดินที่เหมาะสมแล้วแต่ขนาดหน้าตัดของเสาเข็มเล็กเกินไป กำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มไม่เพียงพอที่จะแบกทานน้ำหนักจากตัวอาคารได้เสาเข็มจะทรุดตัวมาก
จากสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดซึ่งจะทำให้อาคารทรุดตัวได้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นจะทราบสาเหตุที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีอาคารหลังหนึ่งทรุดตัวแบบฉับพลัน อาคารหลังนี้เป็นอาคารสูง 3 ชั้นสร้างเสร็จและใช้งานมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ผู้พักอาศัยบอกว่าไม่เคยพบเห็นรอยแตกร้าว เมื่อสำรวจสภาพโดยรวมแล้วพบว่าอาคารอยู่ในลักษณะทรุดเอียงจมไปทางด้านหลัง แต่ส่วนต่อเติมหรือลานซักล้างด้านหลังไม่ได้ทรุดตัวตาม แนวกำแพงรั้วด้านหลังไม่ล้มดิ่งหรือเคลื่อนออกจากแนว และไม่พบรอยร้าวด้านข้างของอาคาร รอยร้าวส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร จากข้อมูลที่ได้นำมาพิจารณาเป็นข้อๆได้ดังนี้
“อาคารสร้างเสร็จและใช้งานมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่เคยพบเห็นรอยร้าว” จากคำบอกเล่านี้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจมีรอยร้าวแต่ผู้พักอาศัยไม่พบเห็น หรือเห็นรอยร้าวแต่เป็นรอยเล็กๆเลยคิดว่าไม่มีอะไร แต่อย่างน้อยยังวิเคราะห์ได้ว่าเสาเข็มของอาคารไม่น่าจะชำรุดแตกหักหรืออยู่ในดินอ่อนมาก เพราะถ้าเสาเข็มแตกชำรุดหรืออยู่ในดินอ่อนมากจะไม่สามารถสร้างอาคารได้สูงและอยู่มาได้นานขนาดนี้ อาคารน่าจะทรุดจมหรือแตกร้าวทันทีที่สร้างเสร็จหรือยังไม่ทันสร้างเสร็จ ประเด็นนี้จึงตัดสาเหตุการทรุดตัวข้อ 1 และข้อ 2 ได้ทันที
……..ตอนหน้าจะมาพิจารณากันต่อนะครับว่าควรจะเป็นสาเหตุข้อใด ยังต้องเน้นว่าถ้าต้องการทราบให้แน่ชัดหลังจากพิจารณาเช่นที่ว่าแล้วต้องสำรวจเพิ่มเติมในส่วนอื่นอีก เช่น ขุดดินเพื่อดูหัวเสาเข็มและครอบหัวเข็มว่าแตกร้าวหรือพลิกตัวในลักษณะใด ต้องตรวจวัดความยาวเสาเข็มเดิม เจาะสำรวจดิน แล้วจึงสรุปผลว่าเป็นเช่นที่พิจารณาในเบื้องต้นไว้หรือไม่
…..สวัสดีครับ สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องบ้านต้องการปรึกษาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯได้จัดรายการ “ คลินิกช่างพบประชาชน” ทุกวันเสาร์ปลายเดือน สำหรับเดือนนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2549 เวลา 13.00 – 17.00 น. กรุณาโทรแจ้งชื่อและปัญหาของท่านเพื่อเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าที่ โทร. 02 – 3192708 , 02 – 3192708 ถึง 10 ต่อ 302 รับไม่เกิน 20 ท่าน และเป็นบริการฟรีครับ
ฐานรากที่วางบนเสาเข็มที่ชำรุดแตกหักจะทรุดตัวมากกว่าฐานรากอื่น ทำให้อาคารแตกร้าว การแกตกร้าวอาจแสดงให้เห็นในระหว่างก่อสร้างหรือเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ รอยแตกจะปรากฏที่ผนังชั้นล่างเป็นอันดับแรก อาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่มานานไม่พบเห็นรอยแตกร้าวที่ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุทรุดตัวแบบฉับพลันจึงมักจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากเสาเข็มชำรุดแตกหัก
ธเนศ วีระศิริ
อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
e-mail : thanesvee@yahoo.com
ที่มา : http://www.engineeringclinic.org/knowledge-1.php